Skip to content Skip to footer

เราเกิดในชนบทที่ห่างไกลแห่งภาคอีสาน ในยุคที่ไม่มีไฟฟ้า ประปาโทรศัพท์ คลอดโดยหมอตำแย มีพี่น้อง 9 คน เราเป็นคนที่ 9 เรามีความรู้สึกชอบเพื่อนผู้หญิงด้วยกันแบบแฟน ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป. 2 อายุ 8 ขวบ

และชอบเล่นกับเพื่อนผู้ชาย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เรารู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชาย เราอยากผ่าตัดเป็นผู้ชาย และชาวบ้านเรียกลักษณะแบบเราว่าเป็น เป็นทอม เราพยายามค้นคว้าหาข้อมูล ที่จะมาช่วยอธิบายคนแบบเรา ในห้องสมุดโรงเรียนไม่มีหนังสือหรือเอกสารใดๆที่ช่วยให้ความรู้ ความเข้าใจ

เมื่อเราเรียนมัธยมปลาย เรามีรอบเดือนและหน้าอกเริ่มโตขึ้นเมื่อย่าง 18 ปี และพบพัฒนาการในร่างกายที่ต่างออกไป ในใจตอนนั้นเราเรียกมันว่า ”สิ่งที่ผิดปกติ“ เราไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นอะไร คล้ายลำลึงค์และถุงอัณฑะ อวัยวะค่อยๆยาวและโตขึ้นอย่างช้าๆ เราต้องทรมาน และร้องไห้ทุกครั้ง ที่มีรอบเดือน เพราะมันเปื้อนและเหนอะหนะตรงนั้น เรารู้สึกอึดอัด ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ทุกครั้งที่มีรอบเดือน เราอยากตัดหน้าอกออก อยากตัดมดลูกออก ไม่มีข้อมูลเรื่องการผ่าตัด โรงพยาบาล แพทย์ที่ผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด มารู้ พบข้อมูล เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว เราหมดรอบเดือนเมื่ออายุ 46 แต่ความอยากตัดหน้าอก ยังคงอยู่ในใจตลอดเวลา

เรารู้ว่าลักษณะอวัยวะของเรานั้นเรียกว่าเป็น Intersex เมื่อปี 2557 จากอรรณว์ ชุมาพร (วาดดาว) นักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศ ที่ไปร่วมประชุมในต่างประเทศได้รับข้อมูล และแชร์ข้อมูลของต่างประเทศให้เราได้ศึกษา

ในวัย 60ปี เราจึงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดยืนยันเพศให้ตรงกับเพศสภาพของตนเอง โดยการตัดหน้าอก พร้อมทั้งเข้าสู่กระบวนการตรวจการเป็น Intersex ที่ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดย รศ.ดร. นายแพทย์ อติวุทธ กมุทมาศเรื่องเล่าพี่หมอเอ้ รวมถึงตรวจที่คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามา มหาวิทยาลัยมหิดล และตรวจโครโมโซมที่ โรงพยาบาลรามา ฯ

เหตุที่ทำการตรวจคุณลักษณะ Intersex ในวัย 60 เพราะ

– เอกสาร ข้อมูล งานศึกษา งานวิจัยด้าน Intersex ในประเทศไทยในยุคก่อนนี้มีน้อยมาก ทำให้การเข้าถึงข้อมูลได้น้อยไปด้วย
– ในยุคก่อนนี้ ไม่มีแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่อง Intersex
– การเป็น Intersex พบหลากหลายแบบ Intersex เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุของระบบสรีระวิทยา การตรวจ Intersex ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความเข้าใจและละเอียดอ่อน
– ต่างจังหวัดไม่มีแพทย์ผู้เชียวชาญที่เข้าใจในเรื่องนี้
– การตรวจมีค่าใช้จ่าย

การผ่าตัดยืนยันเพศ เป็นเรื่องสุขภาพ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สถานบริการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

เรามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการข้ามเพศมีสุข ซึ่งมีประเด็นงานด้านสิทธิ และสุขภาพของคนข้ามเพศ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการบริการ การดูแล การรักษา มีหน่วยบริการทางการแพทย์ และมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า โดยผลักดันนโยบายรัฐใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

ขอบคุณคณะอาจารย์แพทย์ ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามา มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดูแลในครั้งนี้

#intersex #บุคคลที่มีคุณลักษณะทางเพศที่หลากหลาย #เรื่องเล่าคนintersex