เปิดบทสัมภาษณ์ คุณนาดา ไชยจิตต์ Intersex transgender และ Co founder intersex Thailand
Q : แนะนำตัวเอง
A : คุณนาดา ไชยจิตต์ Intersex transgender และ Co founder intersex Thailand และมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
Q : Intersex คือ ?
A : จริง ๆ เราก็พยายามรณรงค์ไม่ใช้คำว่า “เพศกำกวม” ซึ่งในการตั้งต้นใหม่ ๆ ก็มีการถกเถียงกันเยอะ อย่างตัวของนาดาเอง ก็กลับไปใช้คำว่าเพศกำกวมหลายรอบ เพราะว่าชัดเจนดี แต่ถ้าใช้กระบวนการ Reclaiming ได้ก็ยิ่งดี อีกทั้งได้ไปศึกษางานเอกสารของต่างประเทศ เขาก็รณรงค์ต่อต้านการใช้คำว่า Ambiguous Genitalia ก็คืออวัยวะเพศกำกวม แปลว่าไม่ชัดเจน ซึ่งแปลกมาก พอกล่าวคำว่าไม่ชัดเจน แปลว่าไม่บวกและไม่ลบ แต่พอกล่าวคำว่า กำกวม กลับกลายเป็นลบ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ใช่คำว่า อวัยวะเพศกำกวม แต่ใช้คำว่า “คุณลักษณะทางเพศหรือเพศสรีระที่มีความหลากหลาย” ที่ไม่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นเพศหญิงหรือชาย ซึ่งบางครั้งพบเห็นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
Q : สังคมไทยกับการยอมรับ Intersex ?
A : สังคมไทยยอมรับ Intersex ได้มากกว่า Transgender หรือ กะเทยข้ามเพศอีกนะ แต่ก็ไม่เสมอไปทุกคน เพราะบางคนยังมีความเชื่อเรื่องกรรม เรื่องเวร ลูกเกิดมาไม่ครบ 32 ส่วนเรื่องของผู้ที่กำเนิดมามีเพศสรีระที่มีความหลากหลาย เนื่องจากภายใน 15 วันต้องไปแจ้งเกิดตามกฎหมาย ซึ่งปัญหานั้นก็คือจะระบุเพศของลูกอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดหลากหลายแนว สถาบันทางการแพทย์ด้วยว่ามีแนวคิดอย่างไร บางคนอาจบังคับตรวจโครโมโซมเพื่อระบุเพศไปเลย ซึ่งอาจทำให้ระบุเพศเด็กผิดไปจากการรับรู้เพศของตัวเอง โดยมีหลักฐานงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและยังมีกรณีจากประสบการณ์ที่ไปทำบัตรประจำตัวประชาชน บุคคลที่ไม่ตรวจโครโมโซม ค่อยมาเลือกตอนโต หรือเลือกไว้แล้วค่อยมาเปลี่ยน โตมาให้หมอผ่าตัด เลือกเป็นเพศใดเพศหนึ่ง โดยตามกฎหมายปกครองให้สามารถเปลี่ยนเอกสาร เปลี่ยนการรับรองเพศและก็คำนำหน้านามให้ตรงกับเพศที่ตัวเองเลือกได้ โดยเงื่อนไขผ่านการผ่าตัดแล้วและมีเเพทย์ยืนยัน
Q : Intersex กับการแสดงตัวตน ?
A : เวลาแนะนำตัวก็แนะนำเป็น Intersex trans เราไม่เคยปิด สื่อสารตลอด ตั้งแต่ก่อนมาเป็นอาจารย์ โดยร่วมมือกับบุคลที่อยู่ในชุมชน Intersex ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ที่เป็นทอม ทรานส์ นอนไบนารี่ ก็มีกันอยู่ 3 คน โดยก่อตั้งขึ้นเป็น Intersex Thailand และขยายเรื่องนโยบายที่มีความหลายหลายมาก ไม่ได้อยู่แค่กะเทยแท้หรือกะเทยเทียมตามนิยามความหมายทางการแพทย์แบบโบราณ เราอยากแก้ปัญหาการจำกัดสิทธิ์ทางการแพทย์หรือการใช้สิทธิในการเลือกเพศที่เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็พบหลายกรณี เช่น ภายหลังจากเลือกเพศตามที่ต้องการแล้วในระบบเพศแบบขั้วตรงข้าม ก็ละทิ้งความเป็น Intersex ไปเลย เป็นผู้ชายไปเลย หรือผู้หญิงไปเลย หรือบางคนอยากใช้คำว่า Intersex ไปเลย ซึ่งเราก็เคารพในสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตามหลักการสิทธิมนุษยชน ในเมื่อเขาเลือกแล้ว กำหนดเจตจำนงแล้วก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเลือกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถีของตัวเอง
Q : บทสรุปทิ้งท้าย
A : Intersex คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่สามารถมีรสนิยมทางเพศของตัวเองได้ นิยามตัวตนทางเพศของตัวเองได้ เหมือนคนที่เป็นชายหญิงหรือเกย์ กะเทย คนข้ามเพศทั่วไป Intersex ก็เป็นในหนึ่งความหลากหลายทางเพศสรีระ สิ่งที่อยากจะฝากคือ ควรแยกให้ออกระหว่างกะเทยที่เป็นอัตลักษณ์ข้ามเพศสภาพ กับกะเทยที่เป็น Intersex ในเรื่อง biological sex กับ gender identity หรือการมีรสนิยมทางเพศนั้น รสนิยมจากอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น เกย์ เลสเบี้ยนนั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของ Intersex ที่มีความหลากหลายในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเป็น Intersex จะต้องถูกให้เลือกว่าเป็นเพศชายหรือหญิง เขาอาจจะชอบเพศเดียวกันก็ได้ เขาอาจนิยามตัวเองเป็น เลสเบี้ยน เกย์ ทรานส์ก็ได้ อย่าเหมารวม ตีตราว่า Intersex ว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องถูกบังคับให้เลือก และควรคืนอำนาจในการเลือกเพศให้กับเขา ให้เขาเติบโตมามีสิทธิ์ที่จะเลือก แล้วกฎหมายค่อยทำหน้าที่ของกฎหมายในการรับรองสิทธิและหน้าที่ในทางที่เขาเลือก
#เพราะเสียงของเราทุกคนเท่ากัน #เเค่พูดมันออกมาjustsayit #feeltrip

ที่มา: แค่พูดมันออกมา – Just say it