Skip to content Skip to footer

“ก็ใช้เวลานะกว่าแม่จะค่อย ๆ เข้าใจและยอมรับความเป็นผู้หญิงของเรา ตอนนั้นเราอายุ 20 พอดี แล้วเขาก็พูดลอย ๆ ว่า ‘ฉันต้องยอมรับแล้วสินะว่าฉันมีลูกสาว’ เป็นโมเมนต์ที่ดีมาก แม่ก็กลายเป็นเพื่อนที่สนิท รู้ใจ”

คุณนาดา ไชยจิตต์ ผู้เป็น intersex (บุคคลเพศกำกวม) และ transgender (บุคคลข้ามเพศ) แบ่งปันความรู้สึกดี ๆ ในโมเมนต์ที่รู้สึกได้รับการยอมรับในตัวตนทางเพศของตนเป็นครั้งแรกจากคุณแม่ นอกจากนี้คุณนาดายังกล่าวถึงความสำคัญของคุณกร เพื่อนที่เข้าใจในตัวตนทางเพศของเธอและคอยเป็นแรงสนับสนุนทางใจให้คุณนาดาอยู่เสมอ “กรเขาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าเราไม่รู้จะคุยเรื่องนี้กับใคร เราก็จะรู้สึกว่าเรามีพื้นที่ปลอดภัยเสมอ”

คุณนาดายังกล่าวว่าเธอหวังให้สังคมเข้าใจความเป็น intersex มากขึ้น เพื่อให้พวกเขาและเธอมีชีวิตที่ไม่ต่างไปจากคนเพศอื่น ๆ

“อยากให้สังคมเป็นสังคมที่ (คนเป็น intersex) รู้สึกว่าโชคดีที่เกิดในสังคมแบบนี้… อยากให้เข้ามีใครสักคนในชีวิตที่เขาพูดได้ ที่เขาสามารถเปลือยตัวตนของเขาได้ เพราะมันสำคัญมากกับคนที่เป็น intersex”

ปัจจุบันคุณนาดาเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

ความสัมพันธ์ที่ดีจากครอบครัว คนรัก และเพื่อนรอบตัวเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับพวกเราทุกคน บุคคลหลากหลายทางเพศก็ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ต้องการแรงสนับสนุนนี้เช่นกัน เราอยากชวนทุกคนมาดูคลิปนี้และร่วมคิดไปด้วยกันว่าเราจะช่วยดูแลหัวใจของกันและกันได้อย่างไร ไม่ว่าใครจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

โครงการ LGBT-4P ดำเนินการโดยคณาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการฯมุ่งทำความเข้าใจประสบการณ์และมุมมองของพ่อแม่ เพื่อน คู่รัก และผู้ให้บริการสุขภาพของ LGBTI+ โดยมีเป้าหมายปลายทางที่การขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเป็นสังคมแห่งความเข้าอกเข้าใจ อันจะนำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนไม่ว่าใครจะเป็นเพศอะไร

หนึ่งในผลผลิตของโครงการคือหนังสือ “อยู่-ร่วม-สุข เรื่องเล่าความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด LGBTI+” ที่ได้สรุปประสบการณ์ของผู้ใกล้ชิด LBGTI+ จากผลการศึกษาวิจัยของโครงการ รวมทั้งได้เสนอข้อเสนอแนะอันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

#LGBT4P #อยู่ร่วมสุข #คนรอบตัวLGBT #สสส #ความหลากหลายทางเพศ

ดาวน์โหลดหนังสือ “อยู่-ร่วม-สุข” และรายงานผลการศึกษาวิจัยได้ที่: https://lsed.tu.ac.th/research-content-08

ที่มา: Faculty of Learning Sciences and Education – Thammasat University