งานเสวนาหลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับคณะผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน และศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการเติมเต็มสิทธิการจัดตั้งครอบครัวที่กรรมาธิการวิสามัญ สมรสเทียมเท่าได้สงวนความเห็น และจะขึ้นอภิปรายในวาระ 2 ของสมาชิกผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะส่งเข้าวุฒิสภาเพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป
คุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภาได้ให้ความสำคัญกับสิทธิการจัดตั้งครอบครัวภายใต้ร่างฯ สมรสเท่าเทียม และพร้อมหนุนร่างฯ ฉบับนี้เพื่อให้สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นจริง หากสมรสเท่าเทียนผ่านในวาระ 2 และ 3 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาชั้นวุฒิสภา ตนจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จเพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาที่รัฐสภาต้องปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 10 เมษายนนี้ และ ส.ว.จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ยังทำงานได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ ส.ว. ชุดใหม่ หากเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในเดือนกรกฎาคม สมรสเท่าเทียมสามารถเข้าสู่การพิจารณาในชั้น ส.ว. ได้ หากไม่ต้องแก้อะไรมาก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรอ ส.ว. ชุดต่อไป
คุณอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา และเจ้าของงานวิจัยหลักนิติธรรมกับการคุ้มครองเพศสภาพ กล่าวว่าเราเพิ่มความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงกลุ่มคนเพศหลากหลายต้องช่วยกันสื่อสารประเด็นให้เข้มแข็ง ต้องเข้าใจสถาบันนิติบัญญัติว่าพิจารณาแก้กฎหมายเดิมคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรามีหลักการว่าด้วยหลักนิติธรรมอย่างไรเพื่อให้วุฒิสภาเข้าใจสิทธิเพศหลากหลาย และคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภาได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ข้อเสนอต่อสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
คุณอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ (ส.ส.กอล์ฟ) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า พรบ.สมรสเท่าเทียมจะโหวตวาระถัดไปในวันที่ 27 มีนาคมนี้ และส่งต่อให้วุฒิสภาเข้าสู่การพิจารณาในต้นเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ในชั้นกรรมาธิการฯ ทำงานอย่างรวดเร็วภายใต้กรอบ 60 วัน ได้พิจารณาแล้วเสร็จทั้ง 68 มาตรา แม้จะมีการสงวนความเห็น เช่น ถ้อยคำที่ว่า “บุพการีลำดับแรก” นอกเหนือจากคำว่าบิดา มารดา
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี ชี้ให้เห็นงานวิจัยการมีบุพการีครอบครัว LGBTQIANs+ กรณีศึกษาบุพการีเลสเบียนในสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับ บุพการีรักต่างเพศ ให้ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร คำตอบคือไม่แตกต่างด้านความรู้สึกในฐานะบุพการี ทั้งความรัก ความผูกพัน รวมถึงเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยครอบครัวเพศหลากหลายจนโตเป็นวัยรุ่น อารมณ์ความรู้สึกไม่แตกต่างจากครอบครัวคู่รักต่างเพศ และไม่มีแนวโน้มเด็กที่เติบโตเป็น LGBTQI+ มากขึ้น ทุกอย่างคือความปกติของความสัมพันธ์ในครอบครัว งานวิจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์พูด ไม่ได้พูดเพื่อเข้าใจกันเอง
ปัจจุบันเด็ก ๆ ที่โตมากับบุพการีเพศหลากหลายเผชิญปัญหาโดนล้อ ถูกเลือกปฏิบัติ เช่นกัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจความหลากหลาย ที่สำคัญคือเด็กที่เติบโตอย่างมีความสุขจะช่วยให้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดีกับตัวเอง สังคมในอนาคต การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีเนื้อหารวมไปถึงคู่รักเพศหลากหลายในทุกอัตลักษณ์ทางเพศจึงเป็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ครอบคลุมสิทธิความเป็นธรรมทางเพศ
นาดา ไชยจิตต์ (พี่กุล) อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวสรุปถึงหลักนิติธรรม คือต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เพศสภาพ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ คุณลักษณะทางเพศ ดังนั้นการจัดตั้งครอบครัวอย่างเป็นธรรมไม่ใช่แค่การรองรับเพศวิถี แต่คือการกำหนดเจตจำนงในเพศวิถีของตัวเอง ในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง
สมรสเท่าเทียมที่มองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนต้องมี การปกป้อง (Protect) รัฐต้องแก้ไขให้บุคคลเพศหลากหลายที่แตกต่างไปจากความเป็น สามี-ภรรยา บิดา-มารดา ต้องได้รับความเสมอภาคและถูกคุ้มครองในฐานะคู่สมรส รวมถึงการเคารพ (Respect) หลักนิติธรรมต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การที่กฎหมายกำหนด Trans women ที่ประสงค์จะมีครอบครัว แต่รัฐกลับให้เขาถูกระบุในเอกสารราชการว่าเป็นพ่อ นี่คือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และสุดท้ายรัฐต้องเติมเต็ม (Fulfill) โดยเพิ่มกฎหมายที่มีความเป็นกลางทางเพศ รื้อถอนมายาคติระบบสองเพศทิ้งลงไป จึงเป็นที่มาของข้อเสนอคำว่า “บุพการีลำดับแรก” เพิ่มเติมเต็มสิทธิการจัดตั้งครอบครัวทุกรูปแบบ ถ้าไม่ทำตามสามสิ่งที่กล่าวไว้ รัฐไทยก็จะล้มเหลวในการออกกฎหมายฉบับนี้
แนวโน้มสมรสเท่าเทียมจะผ่านมีโอกาสค่อนข้างสูง แต่การบรรจุสิทธิการมีครอบครัวของคู่รักเพศหลากหลายจะต้องจับตาดูกันต่อในการโหวตวาระสองในชั้น ส.ส. วันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อไม่ให้ประโยคที่ว่า “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ที่หลายคนพูดกันนั้นเกิดขึ้นจริง เพราะเราจะมีความสุขอย่างที่สุดไม่ได้เลยถ้าเพื่อน ๆ ในชุมชนบางกลุ่มไม่ได้เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมนี้ไปด้วยกัน เนื่องด้วยรัฐไทยไม่สนับสนุนคำว่า “บุพการีลำดับแรก” และคงไว้ซึ่งคำว่าบิดา-มารดา ในระบบฐานคิดแบบสองเพศเท่านั้น





#สมรสเท่าเทียม #บุพการี #ครอบครัวเพศหลากหลาย
Content by ปาหนัน
ขอบคุณภาพจาก วุฒิสภา
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
ที่มา: Spectrum Facebook Page